สัมภาษณ์ : เริ่มต้นทำช่อง Youtube (1)
วันก่อนมีนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขา Communication Design มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(วิทยาเขตบางขุนเทียน) มาขอสัมภาษณ์ เกี่ยวกับการทำช่อง Youtube ค่ะ เก๋เลยได้ทบทวนประสบการณ์การทำช่อง Youtube ครั้งแรก รวมถึงได้ให้ไอเดียน้องนักศึกษาไปเกี่ยวกับการเริ่มต้นทำช่อง Youtube ในฐานะ Youtuber สายการศึกษา ซึ่งน้องบอกว่า หาสายการศึกษาได้ยาก เลยไปติดตามช่องต่างประเทศ เป็นส่วนใหญ่
สิ่งที่เก๋สรุปได้จากการพูดคุยกับน้องสั้นๆ เกี่ยวกับการทำช่องของเก๋ก็คือ
- ทำด้วยใจอยากทำ
เล่าจากประสบการณ์ตรงว่าเก๋อยากจะแบ่งปันเทคนิค และ การใช้ Google Product เช่น Google Drive, Google Form รวมถึงการที่บริษัท มหาวิทยาลัยอยากจะติดตั้งการใช้ระบบเมล์ของ Google ต้องทำอย่างไร ก็เลยเป็นจุดกำเนิดของการเริ่มต้นทำช่อง Youtube และ ก็แผ่ขยายมาถึงปัจจุบันที่สอนเกี่ยวกับการใช้ iPad และ Macbook ในการเรียนการสอน พอเวลาที่เราเจออะไรใหม่ๆ เราก็อยากจะเอามาแชร์ แบ่งปันให้กับคนที่ติดตามเราได้รับรู้ไปด้วย ซึ่งพอมันเป็นสิ่งที่เราสนใจ รักที่จะทำ เราก็จะมี Content มาแชร์เรื่อยๆ และที่สำคัญ เราก็จะสนุกกับการทำช่องด้วย
ตัวอย่างเช่น น้องจีน ที่มาสัมภาษณ์เก๋ เค้าสนใจเรื่องการเรียนภาษา ถึงขั้นเป็นติวเตอร์ภาษาญี่ปุ่น ก็น่าจะทำช่องภาษาญี่ปุ่น แน่นอนว่าน้องน่าจะมี Content ที่หลากหลายมาแชร์แน่นอน - แต่ละช่อง โฟกัสเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ถ้าเราอยากจะแชร์เรื่องเทคโนโลยีก็แชร์เฉพาะเทคโนโลยีไป ไม่ควรที่จะเอาเรื่องเกี่ยวกับอื่น ๆ เช่น การสอนภาษาญี่ปุ่น เพราะกลุ่มเป้าหมายก็จะไม่ตรงกัน ถ้าจะให้ดีก็ไปเปิดช่องใหม่ เกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นโดยตรงไปเลย เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่
- ดูจากปัญหาของลูกค้าเป็นหลัก เนื่องจากเก๋ทดลองทำคลิปมาหลายแบบ พบว่าคลิปท่ีมีคนดูเยอะ ก็จะเป็นคลิปที่เกี่ยวกับปัญหาของคน เช่น การดาวน์โหลดแอพไม่ได้ หรือ การสร้างเว็บไซต์ฟรี เรียกว่าดูเยอะเป็นพิเศษเลย ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดว่าจะมีคนดูเยอะขนาดนี้เหมือนกัน
- ลงมือทำ ข้อนี้สำคัญ ครั้งแรกที่เราต้องพาตัวเองมาออกกล้อง ก็จะแปลกๆ หน่อย เพราะว่า กลัวว่าจะดูไม่ดี แต่ทำไปเรื่อย ๆ ก็จะเริ่มลดความกลัวไปเอง การลงมือทำจะทำให้ให้เกิด Action ต่อๆไป เช่น จะรู้ว่าครั้งต่อไปเราต้องพัฒนาอะไรมากขึ้น มีไอเดียสำหรับการทำหัวข้อใหม่มากขึ้น รู้จักโปรแกรมตัดต่อต่างๆ มากขึ้น เราจะเก่งขึ้นผ่านการลงมือทำนี่แหละค่ะ
ประโยชน์ของการทำช่อง Youtube ที่เก๋ได้เลยทางตรงคือ การทำ Branding หลายๆ ครั้งมีคนติดต่อมาให้ไปเป็นวิทยากรก็มาจากการทำช่อง Youtube (รวมถึงจาก Facebook Channel) ด้วย
ประโยชน์อื่น ๆ ของเก๋เลยคือ ลูกศิษย์ที่เป็นอาจารย์ หรือ คุณครูจะกลับมาดูย้อนหลังได้ ซึ่งทำให้เราสามารถส่งคลิปไปเพิ่มเติมให้เค้าได้ทบทวน และ ทำให้เข้าใจในสิ่งที่สอนไปมากขึ้น
ส่วนในเรื่องระบบรายได้ที่ได้แบ่งค่าโฆษณาจาก Youtube ซึ่งตรงนี้ เก๋ถือว่าเราไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก ก็ไม่ได้พิจารณาตรงจุดนี้มาก รายได้ที่ได้มาคิดว่าเป็นค่ากำลังใจเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น แต่ก็ให้กำลังใจน้องไปว่า แน่นอนมีคนทำรายได้จาก Youtube ได้เยอะจริงๆ ก็ต้องตัดสินใจว่า เราอยากทำอะไร ก็โฟกัสไปให้ดี
น้องยังได้ถามเก๋เรื่องว่าใช้โปรแกรมอะไรตัดต่อ ไว้ในบทความถัดไปจะมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมนะคะ
เฉลยทิ้งท้ายไว้สักหน่อยว่า เก๋ใช้หลายโปรแกรม และ โปรแกรมที่สามารถอัดทั้งหน้าคนพูด และ อัดหน้าจอคอมพิวเตอร์ (หรือ iPad) ได้ก็คือ Camtasia
ไว้ติดตามกันในบทความถัดไปนะคะ
ฝากติดตาม Youtube Channel : www.youtube.com/kayjarunee