หลายๆ ครั้งเราพูดถึง Digital Litearcy เนอะ แต่มีอีกตัวนึงที่เก๋คิดว่าน่าสนใจ และ ก็น่าจะให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ด้วยคือ Money Litearcy ความรู้ทางด้านการเงิน

อ้างอิงจาก Money Coach (จักรพงษ์ เมษพันธุ์) “ความรู้ทางการเงิน (Money Literacy) หมายถึง การมี ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการบริหารจัดการเงิน ทั้ง 4 ด้าน อันได้แก่ การหารายได้ (Earning) การใช้จ่าย (Spending) การออม (Saving) และการลงทุน (Investing)”

สมัยที่เราเรียนหนังสือกันแล้วจบมา เราก็โฟกัสที่การหางานทำ การหารายได้ (Earning) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เรามองที่สุดก็คือเรื่องเงินเดือน ว่าจะได้เท่าไหร่ ได้โบนัสหรือไม่ แต่เรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะ การออม (Saving) เราก็แค่คิดว่าก็ใช้ไปเหลือเท่าไหร่ก็ค่อยออม จนมาวันนึงพี่ที่ทำงานบอกว่า เราควรจะคำนวณนะว่าเราจะออมกี่เปอร์เซนต์ และ ตัดออมตั้งแต่ตอนที่เงินเดือนเข้าเลย เพราะการที่บอกว่าเหลือแล้วค่อยออมมันไม่ค่อยจะเกิดขึ้นนะคุณน้อง เรายังนึกถึงคำพูดของพี่คนนั้นได้อยู่เลยแม้ว่าจะผ่านมาหลายปีแล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราย้ายที่ทำงานพอดี ก็เลยมีเงินเดือนที่มากขึ้น เลยลองทำตามที่พี่เค้าบอกดู โดยอาศัยเทคนิคเพิ่มเติมคือ เปิดบัญชีธนาคารอีกอันที่ไม่มีบัตรเอทีเอ็ม พอเงินเดือนออกก็เอาเงินรู้สึกว่าจะ 30% โอนไปที่บัญชีนี้ และไม่เคยไปถอนออกมาเลย ผ่านไปมาก็ลืมๆ ไปก็มีเงินเก็บเป็นแสนเลย คิดย้อนกลับไป ถ้าตอนนั้นไม่ได้ทำวีธีนี้ เงินเดือนก็อาจจะไปอยู่กับตลาดนัดแถวออฟฟิศหมดแน่เลย เพราะเราสามารถสร้างการใช้จ่าย( Spending) ของเราให้มากขึ้นได้ ด้วยเหตุผลนานับประการ

เรื่องถัดมานอกเหนือจากการออม ก็คือการลงทุน (Investing) สมัยก่อนไม่รู้เรื่องการลงทุนเลย รู้แต่ว่าเล่นหุ้นแล้วไม่ดี อันตราย ประสบการณ์ที่ไม่ดีก็ทำให้เราคิดแบบนั้นแหละ ไม่รู้เรื่องการลงทุนในหุ้นเลย แม้ว่าเราจะจบจากคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชีมา เหมือนที่เรียนมา กับ ชีวิตจริงมันไม่ได้ถูกเชื่อมโยงกันเลย ดังนั้นพอเรามีเงินเก็บ เราก็อยากจะให้มันเพิ่มพูนเราก็เลยไปฝากธนาคาร แต่เป็นการฝากประจำ 8 เดือน จบ 8 เดือนแล้วก็จบ เหมือนไม่ได้มีการวางแผนอะไรเท่าไหร่

เวลาผ่านไปเนิ่นนาน ไปเรียนต่อ กลับมาทำงานเมืองไทย จึงได้ค่อยๆ เรียนรู้ ลองผิดลองถูกเรื่องการลงทุน การบริหารจัดการเงิน เปิดโลกทัศน์ต่างๆ เปิดใจเรียนรู้ ทำให้รู้ว่าเราต้องเรียนรู้เอง และ หาเวลาเรียนรู้ ไม่ใช่แต่หาเงินอย่างเดียว ต้องบริหาจัดการท้ัง 4 ด้าน เหมือนที่คุณจักรพงษ์ บอกไว้ ตอนนี้เราก็รู้ว่าความรู้ทางการเงินเรียนรู้ได้ และ ทำให้เรารู้สึกสบายใจ ถึงอนาคต การวางแผนเกษียณ วางแผนเที่ยว วางแผนการศึกษาของตัวเราเองเราทำได้

สิ่งเหล่านี้เราค้นพบก็ตอนอายุ 30 กว่าแล้ว แต่โชคดีที่ยังได้เรียนรู้ ถ้ารู้ตั้งแต่เรียนจบคงจะดีไม่น้อย


จารุณี สินชัยโรจน์กุล
เก๋ไก๋ไฮเทค ที่ปรึกษาการพัฒนาวิชาชีพครู Google Certified Innovator / Google Certified Trainer