เมื่อวานเก๋ได้ไปทัศนศึกษาดูงานที่บ้านกาญจนา สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครปฐม หลังจากที่ได้อ่านหนังสือ “เด็กน้อยเดินเข้าหาแสง” ที่เขียนโดย ป้ามล ทิชา ณ นคร ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของบ้านแห่งนี้ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเด็กต้องโทษ ซึ่งมีอายุตำ่กว่า 18 ปี และต้องโทษอุฉกรรจ์ เช่น คดีฆ่าคนตาย ค้ายาเสพติด

เป็นโชคดีที่เราได้ฟัง ป้ามลมาเล่าเรื่องด้วยตนเอง และ มีกิจกรรมที่เราได้นั่งคุยกับเด็กที่อาสามาคุยกับพวกเราที่โต๊ะด้วย หลังจากได้ใช้เวลาประมาณเกือบ 1 วันเต็มๆ ซึ้งกับเรื่องราว และ ดีใจแทนเด็กๆ หลายร้อยคน ที่ได้ผ่านการฟูมฟัก ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ผ่านกิจกรรม ผ่านการพูดคุย และ หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจ ฐานคิดของป้ามลคือ เด็กเหล่านี้คือผู้แพ้ในสังคม และเชื่อมั่นในมนุษย์ว่าเค้ามีส่วนดี และ นำสิ่งเหล่านี้มาออกแบบความเป็นบ้านกาญจนา

ป้ามลละเมียดละไมกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านกาญจนา เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งด้านการใช้ Soft Power แทนการใช้อำนาจเหนือ เพื่อเข้าไปในใจเด็ก

ป้ามล ทิชา ณ นคร

เรื่องราว Soft Power มีหลายอย่างเลย ที่เราคิดว่าใช่ก็คือ เด็กไม่จำเป็นต้องตัดผมเหมือนกัน สิทธิในร่างกายของเค้าก็เป็นของเค้า ไม่มีการตรวจค้น เด็กจะรู้ว่าสิทธิของเค้าคืออะไร ถ้าเค้าทำผิด เช่น เด็กที่เก๋ได้นั่งคุยด้วย เป็นเด็กที่ทำผิดเรื่องยาเสพติด ถูกล่อซื้อ และโดนจับได้ หลังจากมาอยู่บ้านกาญจนา 1 วัน กิจกรรมแรกที่ป้ามลจะทำคือ กอดต้อนรับ และเล่าถึงความเป็นอยู่ที่บ้านกาญจนาจะเป็นอย่างไร ส่วนในวันถัดไปคือ การพาไปกินหมูกะทะ นอกบ้านกาญจนา ตอนแรกเราฟังแล้วก็ตกใจว่า การทำแบบนี้น่าจะเป็นความเสี่ยงของป้ามลมากๆ เพราะเด็กเพิ่งเข้ามา พอเค้าได้ไปกินหมูกระทะนอกบ้านพัก เค้ามีโอกาสที่จะหนีได้ง่ายดาย ซึ่งเด็กที่เก๋ได้นั่งคุยด้วย เค้าก็แอบคิดเหมือนกันว่าอยากจะหนีไปช่วงเวลานี้ เด็กต้องชั่งน้ำหนักและควบคุมใจตัวเองอย่างมาก แต่เมื่อเค้าตัดสินใจว่าจะไม่ทำ สิ่งเหล่านี้เหมือนจะเป็นการวัดใจเด็กไปเลยว่า ตลอดเวลาที่ต้องโทษและอยู่ที่บ้านกาญจนาเค้าก็จะไม่ทำการหนี สำหรับป้ามล มันคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

รวมถึงมีกิจกรรมที่ Empower ที่ดึงผู้ปกครองของเด็กมาร่วม Workshop เข้าใจปัญหาที่แท้จริงที่ผลักเด็กออกจากบ้าน ซึ่งทุกๆ กิจกรรมมีการเตรียมความพร้อมในการลดแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด

การทำ Empower ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ปกครอง พ่อแม่ของเด็กจะเข้าใจได้ง่าย ๆ การออกแบบกิจกรรมพ่อแม่จึงสำคัญที่จะทำให้พ่อแม่รู้ว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาคือ ครอบครัว ถ้าเด็กผ่านบ้านนี้ไปได้ ครอบครัวก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเด็ก จะใช้ชีวิตกันอย่างไร ที่ส่งเสริมให้เด็กอยากจะอยู่บ้านมากกว่า ถูกดึงดูดไปนอกบ้าน

การเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นผ่านเรื่องเล่าต่างๆ ทำให้เรารู้สึกได้ว่า ป้ามลดูแลเด็กๆ ด้วยใจ ใส่ใจ และ เชื่อมั่นในการดึงด้านดีในตัวเด็กออกมาได้ ป้ามลทำได้ยังไง ป้ามลกล้าหาญมากๆ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ป้ามลเล่าว่า แกใช้ความดื้อรั้นที่นานพอ ทนต่อแรงเสียดทานภายนอกที่นานพอ จนเกิดเห็นผลขึ้นมา น่าจะเกือบ 3 ปี ตอนที่ป้ามลเริ่มมาทำงานที่บ้านกาญจนา

ความดื้อรั้นเช่นอะไรบ้าง เช่น ตอนป้ามลเข้ามาทำงานเป็นผอ.ใหม่ๆ ก็เกิดกิจกรรมองค์กรเดิม คือ คนที่นี่จะต้องรวมตัวกันไปคาระวะกับศาล ทั้งๆ ไม่จำเป็นแต่มีการทำแบบนี้ ป้ามลก็คิดว่า ไม่จำเป็นก็ไม่ทำ และเสียเวลาเปล่าๆ ด้วย

ตรงนี้เป็นสิ่งที่ป้ามลอาจจะเรียกว่า ปัจจัยภายนอก ถ้ามันมาทำให้ปัจจับภายในเสียหายก็จะไม่ทำ องค์กรหลายๆ แห่ง ทำสิ่งต่างๆ เพียงเพราะมันเคยทำตามๆ กันมา โดยไม่ได้ฉุกคิด

ความดื้อรั้นและความเชื่อที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้กำลังกับเด็ก ไม่ต้องใช้อำนาจบาทใหญ่กับเด็ก และ ปรับเปลี่ยนวิธิคิดเจ้าหน้าที่ในบ้านกาญจนา จนวันนี้เจ้าหน้าที่ก็เชื่อมั่นในวิธีการนี้เช่นกัน เจ้าหน้าที่ได้เห็นแววตาของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ที่มีความหวังมากขึ้น ได้เห็นการทำงานในรูปแบบนี้ว่ามันทำให้เค้ามีความสุขขึ้นอย่างไร

เราชอบที่เด็กเล่าว่า เค้าก็รู้สึกว่าเค้าโชคดีที่ได้มาอยู่ที่นี่ แม้ว่าเค้าจะรู้สึกว่า เค้าเสียเวลาไปหลายปีเลยกับการถูกจับ แต่อย่างน้อยเค้าก็มองโลกในแงดีว่า ที่บ้านหลังนี้สอนการใช้ชีวิตให้กับเค้า วิชาชีวิต สอนให้เค้ารู้จักคิดเป็น การใช้การเวิเคราะห์ข่าว ดูหนังและวิเคราะห์ตัวละคร ต่างๆ ค้นหาสาเหตุว่าทำไมตัวละครถึงตัดสินใจแบบนั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เค้าเติบโตทางความคิด และเรื่องการเรียน เค้าไม่ได้ไปเรียนอยู่แล้ว เค้าติด 0 ทุกตัว เค้าเลยตัดสินใจเรียน กศน. ถ้าออกไปจากที่นี่ก็เรียน กศน.ต่อได้ และ เค้าไม่มีทางที่จะกลับไปยุ่งกับยาเสพติดอีกแล้ว ตอนนี้แม่ก็เข้าใจเค้าแล้วด้วย และจะบ่นให้น้อยลง (น้องบอกว่า ปัจจัยที่ไม่อยากอยู่บ้านคือ แม่พูดเรื่องเดิมซ้ำๆ ) ซึ่งแม่ก็รับรู้และ ลูกก็รับรู้ว่า ถ้าแม่พูดครั้งเดียวก็รับปาก รับทราบว่าจะทำเลย เหมือนทำให้บ้านอบอุ่นขึ้น (สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตอน Workshop : Empower )

แล้วป้ามลออกแบบประสบการณ์เด็กๆ โดยเอาไอเดียมาจากไหน

ป้ามลให้เด็กๆ เขียนบันทึกก่อนนอนทุกวัน แรกๆ ก็อาจจะเขียนตามๆ กันไป แต่หลังๆ เด็กๆ ก็เขียนบันทึกก่อนนอนในแบบฉบับของตัวเอง การเขียนบันทึกการกลับบ้านครั้งแรก การอ่านงานเขียนของเด็กทำให้ป้ามลและเจ้าหน้าที่ได้อ่าน ศึกษา และ คิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป ออกแบบกิจกรรมที่จะสร้างการเติบโตให้กับเด็กได้อย่างไร

อาจจะมีคนเคยทำป้ามลว่า ที่เด็กๆ เขียน เค้าหลอกหรือเปล่า ป้ามลเลยเล่าให้ฟังว่า fake ได้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่เป็นไร ที่นี่เรา sense แห่งความดีเราไม่สูง เราชอบคำนี้นะ มัน real ดี ไม่ต้องเขียนอะไรดีที่สุด จะยังไง สำคัญที่เด็กได้รับรู้ว่า เด็กมีคนอ่านบันทึกของเค้า เค้าได้เป็น someone

การเขียนทำให้เด็กมีคลังศัพท์ที่เยอะขึ้นด้วย เราคุยกับเด็ก เด็กได้เรียนวิชาชีวิต ได้เขียนบันทึกทำให้เค้าพูดจา เข้าใจและถ่ายทอดออกมาได้ดีเลยทีเดียว งานเขียนของเด็กจะมีความลุ่มลึกนะ เพราะเค้าได้วิเคราะห์ข่าว วิเคราะห์ตัวละครมาอยู่แล้ว การที่เค้าจะเขียนความรู้สึกนึกคิดออกมาด้วย ยิ่งทำให้การคิดทำได้ดีขึ้น

เด็กๆที่บ้านนี้ จะกลับมาคืนสู่เหย้ากันด้วย บางคนอุ้มลูกมาให้ดู และสร้างเด็กต้นน้ำที่ดีคนหนึ่ง รุ่นพี่ๆ ที่กลับมาก็จะเป็นแรงผลักดันในน้องในรุ่นถัดๆ ไปได้ว่า เค้าออกไปและออกไปทำงานสุจริตดีที่สุด ไม่ต้องกลัวอะไร (น้องที่กลุ่มเราเค้าบอก)

ทำไมป้ามลถึงศรัทธาในตัวเด็ก ขนาดนี้ ก็เพราะว่า ปัจจัยที่ทำให้เด็กมาอยู่ที่บ้านกาญจนา ไม่ใช่มาจากเด็กเพียงอย่างเดียวมันมาจากปัจจัยร่วมหลายๆอย่าง ได้แก่

ครอบครัว

ที่ครอบครัวมีปัจจัยที่ผลักไสไล่ส่งลูกออกจากบ้าน เช่น การเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น การทะเลาะกันของพ่อแม่ การพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เด็กไม่อยากจะอยู่บ้าน หรือ ไม่อยากคุยกับคนที่บ้าน

การ์ดกิจกรรม สำหรับเวิร์คชอป Empower ให้ผู้ปกครองได้เห็นสาเหตุของปัญหา

นโยบายการศึกษา
นโยบายการศึกษา ที่ปล่อยให้เด็ก drop-out จากระบบการศึกษา ปีละ 1 แสนคน ซึ่ง “เมื่อประตูโรงเรียนปิดสำหรับเด็ก ประตูคุกก็เปิดขึ้น” เด็กที่มาอยู่บ้านกาญจนา กว่า 60% เป็นเด็กที่ถูกให้ออกจากโรงเรียน เพราะเค้าเอาความเป็นผู้แพ้ทางการศึกษาออกมาด้วย ซึ่ง สำหรับป้ามลแล้ว มันคือความล้มเหลวเชิงระบบ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะต้องมาใส่ใจ และ คิดแก้ปัญหา เพราะตัวเลขไม่ใช่น้อยๆ เลย
ระบบที่ทิ้งคนที่อ่อนแอ ให้ออกจากโรงเรียน จำนวนกว่า 100,000 คน เป็นระบบที่ถูกต้องหรือ

ทุนนิยม

แล้วทุนนิยมเป็นความรับผิดชอบของใครล่ะ สำหรับป้ามลแล้ว มันเป็นความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ในรุ่นเรา

กิจกรรมตลอดทั้งวัน ถ้าถามว่าเราได้อะไรมากที่สุด เราได้เห็นว่า คนๆนึง สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ ขอบคุณป้ามลที่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ และทุกคนสามารถทำในจุดที่ตัวเองยืนอยู่ และ ส่งเสียงออกมาให้ผู้กำหนดนโยบายเห็นในสิ่งที่ทำ

สำหรับเรา กิจกรรมที่ได้มีส่วนไปร่วม (ขอเค้าไปด้วย) กับทัศนศึกษาดูงาน กับ ชาวนักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาการและศึกษาศาสตร์ มธ.ในวันนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ดีที่สุดในปี 2020 ของเราเลย ตัวเรานั้นเล็กจริงๆ

จารุณี สินชัยโรจน์กุล
เก๋ไก๋ไฮเทค ที่ปรึกษาการพัฒนาวิชาชีพครู Google Certified Innovator / Google Certified Trainer