ช่วงนี้ตื่นเช้ามา นอกจากออกกำลังกายตอนเช้าแล้ว เก๋ก็จะทำงานหน้าคอมอยู่ตลอด เพราะตั้งแต่มี Covid19 และ มีการประกาศปิดโรงเรียนในวันที่ 18 มีนาคม 63 จนถึงวันนี้ เก๋ก็ได้ตอบคำถามไปมากมายในเรื่องเทคโนโลยี เก๋คิดว่า ครูหลายๆ คน หรือ คนที่อยู่ในวงการหลายๆ คนก็คงมีโอกาสได้ทำงานตรงนี้เต็มที่มากๆ

สำหรับเก๋เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกคนกระตือรือล้น และ อยากใช้เทคโนโลยี เลยตั้งใจว่า จะช่วยทุกคนที่ถามเข้ามาผ่าน Inbox หรือ ช่องทางต่างๆ ที่เค้าจะติดต่อเก๋ได้ เช่น Youtube Channel เก๋ไก๋ไฮเทค ที่ทำไว้ การตอบคำถามให้กับครู ผู้ปกครอง การขอความคิดเห็นเรื่องการจัดการเรียนรู้ รวมถึง ได้ไปอยู่ในกลุ่ม Facebook group – Teaching during covid19 โดยเป็น Admin Page ตอนแรกคิดว่าต้องคอยช่วยตอบคำถามผู้คน ก็คอยตอบไป แต่หลังๆ พบว่าเก๋ได้เรียนรู้อะไรเยอะมากมายจริงๆ จากอาจารย์หลายๆ แห่ง มีคนทำคลิปมาสอนเยอะมาก และ แนวคิดการจัดการเรียนรู้ทางไกล ซึ่งทำให้เราได้ทัศนคติต่างๆ ที่ทำให้เราเกิดความอยากเรียนรู้เพิ่มเติมอีกด้วย

ครูด้าน ICT ตามโรงเรียนต่างๆ เท่าที่ได้คุยกัน ก็งานยุ่งมากๆ หรือ อาจารย์ที่ดูแลระบบ ThaiMooc ก็มีการพัฒนาระบบ และ ทำงานกันหนักขึ้น ซึ่งเก๋เชื่อว่าทุกคนดีใจ ที่ได้ช่วย และ ตอบคำถาม รวมถึงการช่วยหาคำตอบด้วย

สิ่งนึงที่เก๋มีโอกาสได้ทำและดีใจที่ได้ทำอีกอย่างคือ การรวมตัวครู ICT ที่พอจะรู้จักกัน และเคยอยู่ในกลุ่ม Google Educator Group (GEG) ด้วยกันมา ต้องเรียกว่าเคย เพราะว่าเก๋ก็เคยเป็นสมาชิกแบบ Active มาก่อน แต่หลังๆ ด้วยภารกิจอื่นๆ เลย ไม่ได้ Active มาหลายปี ตอนนี้มีเพื่อนครูชาวต่างชาติ ชวนมารวมตัวกันอีกครั้ง และ ร่วมกับ GEG ในภูมิภาค Asia Pacific คือ กลุ่มนักการศึกษาที่อยู่ในเอเชีย มารวมตัวกัน จัด event ออนไลน์ 17-19 เมษายน 2563 และ ให้เก๋ช่วยดูแลชวนเพื่อน GEG ที่มีอยู่ในเมืองไทย เท่าท่ีชวนได้ มาเป็น speaker จัด event กันผ่าน Youtube Live

พอรับหน้าที่นี้มาก็ดีใจ จะได้ทำอะไรที่เป็นทีม รวมไปถึง หนักใจ เพราะว่า event นี้แต่ละคนต้องเป็นอาสาสมัคร และ ก็ต้องทำกันเอง ที่บ้านตัวเอง คิดหัวข้อ ประชาสัมพันธ์ รวมถึงเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ ในการ Live เช่น streamyard

ส่วนที่ดีใจก็เพราะว่า เค้าทำกัน 9 ภาษา รวมไทย ด้วย เราก็จะได้มีคนไทยอยู่ใน List ที่เค้าดำเนินการอยู่ ซึ่งทำให้เราฟิตมาก อีกอย่าง เก๋ก็คิดว่า ถ้าเรารวมตัวกันทำ live กันได้ พอเป็น ทีม พวกเราก็ไม่ต้องตอบคำถามคนเดียวอีกต่อไป ใครถามอะไรมาก็สามารถส่งคลิปที่ live แล้วให้ได้ ก็ได้ ครูหลายๆ คนอาสามาช่วยทำเว็บไซต์ เช่น ครูอดิศักดิ์ จากโรงเรียนดาราวิทยาลัย ก็มาทำให้

GEG Thailand webinar

เมื่อวาน (17เมษายน) เป็นวันแรกที่กิจกรรมนี้เริ่มขึ้น โดยมีครูอัญชลี จากหาดใหญ่(โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย) เป็นคน live คนแรก เก๋ดูแล้วรู้สึกดีมาก เพราะมีคนเข้ามาดูมาคอมเม้นต์ และ ก็บอกว่าได้ประโยชน์มาก ครูอัญชลีมากับเพื่อนครูอีก 2 คน มีการเตรียมตัวกันดีมาก เสียง ภาพชัดดี ผลัดกันแบ่งปันความรู้เรื่องการใส่ Rubric ลงในการให้คะแนนนักเรียน โดยทำผ่าน Google Classroom ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ดีมาก ทำให้นักเรียนได้รู้ว่า ผลหรือเป้าหมายในการทำชิ้นงานนี้คืออะไร และ ถ้าครูสามารถออกแบบ พร้อมนำไปใช้งานผ่านเครื่องมีเหล่านี้ มันก็ทำให้ครูทำงานได้เร็ว และ สะดวกขึ้นด้วย

มีหัวข้ออื่นๆ ที่เกิดขึ้นอีกเช่น การนำ Google Docs ไ่ปช่วยในโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นคลิปสั้นๆ 20 นาที แต่ได้เห็นภาพ กระบวนการสอนของคุณครูมัส จาก มุกดาหาร(โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร)

และตอนเย็นประมาณ 18.00 น ก็มีการ live เกี่ยวกับ โรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ โคราช เตรียมตัวเรื่องการจัดการเรียนรู้ทางไกล อย่างไรบ้า ไม่ว่าจะเป็น workflow ที่ครูน้ำค้าง และ ครูสุรพงศ์ ทำให้เห็นภาพมากขึ้น การเตรียมเช็คอุปกรณ์นักเรียน การเตรียมสอนครูในโรงเรียน การใช้ Google Sheet เพื่อดูสถานะว่าการดำเนินการของโครงการไปถึงไหนแล้ว รวมถึง เครื่องมืออื่นๆ ที่ ทำให้เรารู้ว่า โรงเรียนต้องเตรียมอะไรบ้าง อะไรที่บางโรงเรียนอาจจะลืมนึกถึงไป ก็สามารถนำกลับไปพิจารณาได้

ระหว่าง live ก็ตื่นเต้นกันหมด เพราะเท่าที่รู้มาเป็นการ live ครั้งแรกของคุณครูแต่ละท่าน แต่เชื่อไหมครูแต่ละคนได้แรงบันดาลใจอยากจะทำต่อในชุมชนของตัวเอง ครูอัญชลีเตรียมนำรูปแบบนี้ (รูปแบบการ live แบบแบ่งปันนี้) ไปใช้กับกิจกรรม PLC ( Professional Learning Communitiy) ในโรงเรียนด้วย ส่วนครูน้ำค้างจากสุรธรรมพิทักษ์ แจ้งในคลิปเลยว่า สัปดาห์หน้าเรามาเจอกันอีก

หลังจากดูคุณครู ทั้งเมืองไทย และ แอบไปดู session ภาษาอังกฤษ บ้าง ก็ทำให้เก๋ตื่นเต้นมากขึ้น คือ แต่ละคนที่เป็น GEG ที่เราเรียกว่า GEG Leader เตรียมตัวมากันอย่างดี บางคนมีทีมของสำนักงานเขตการศึกษามาช่วยด้วย มีการชวนเพื่อนครูมาร่วม Live แบ่งปัน ตอบคำถาม รวมถึง การได้ออกเกียรติบัตรออนไลน์ ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ๆ ที่นำไปสู่หัวข้อที่คนสนใจกันขึ้นมาอีก

ดีใจ 🙂 อยากเห็น Community แบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ใช่ไหมที่เรียกว่า PLC นำให้เกิด Life Long Learning

เมื่อคืนเลยนั่งเตรียมตัวถึง 5 ทุ่ม บ้าง เพราะเช้านี้เก๋มีนำเสนอ 1 session เรื่อง เครื่องมือการจัดการเรียนรู้ทางไกล (Tools for distance learning) ซึ่งตอนนี้ก็พร้อมพอสมควร และ จะทำให้ดีที่สุด แม้ว่าแอบตื่นเต้น

ทั้งวันนี้จะมีเพื่อน ๆ GEG จากเชียงใหม่ ร้อยเอ็ด นำเสนอ ไม่ว่า จะเป็นการเตรียมตัวของโรงเรียน / การสมัคร G Suite for Education สำหรับโรงเรียนที่ต้องการเริ่มต้น และ การสร้างเว็บไซต์ Portfolio ด้วย Google Sites

รายละเอียดงานวันอื่นๆ หรือ ดูย้อนหลังได้ที่ bit.ly/gegapacthailand

วันนี้นึกอยากเล่าเรื่องราวต่อไปนี้ ในเดือนที่ผ่านมา มีอะไรที่เก๋ได้ทำเยอะ สนุก เหนื่อย และ ก็ได้คำขอบคุณมาเยอะเหมือนกัน ก็ดีใจเหมือนกัน คำขอบคุณก็ช่วยหล่อเลี้ยงเราได้แฮะ

ก็เป็นกำลังใจให้กับทุกคนนะคะ เชื่อว่าเราจะผ่านมาไปด้วยกัน และ เติบโตไปด้วยกันเช่นกัน

เก๋

จารุณี สินชัยโรจน์กุล
เก๋ไก๋ไฮเทค ที่ปรึกษาการพัฒนาวิชาชีพครู Google Certified Innovator / Google Certified Trainer